Menu Close

ประวัติความเป็นมาของภาควิชาคณิตศาสตร์

ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดตั้งขึ้นพร้อมกับคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อปี พ.ศ. 2507 โดยใช้ชื่อว่า แผนกคณิตศาสตร์และสถิติเป็นแผนกวิชาที่จัดตั้งขึ้นพร้อมกับแผนกวิชาอื่นๆ ของคณะฯ อีก 4 แผนก ได้แก่ แผนกฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และภาษาอังกฤษ

ในยุคก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ยังไม่มีการรับนักศึกษา เนื่องด้วยนโยบายของรัฐที่กำหนดให้มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นสถาบันการศึกษาขั้นสูงด้านวิศวกรรมศาสตร์และเกษตรศาสตร์ มีหน้าที่ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถเพื่อนำองค์ความรู้มาพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งส่วนมากเป็นพื้นที่แห้งแล้งให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ มหาวิทยาลัยจึงรับนักศึกษาในสาขาวิชาเกษตรศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์เป็นลำดับแรกก่อน มีหลักฐานดังคำกราบบังคมทูลของนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2510 ความว่า

ความจำเป็นและความต้องการอย่างยิ่งในการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือนำให้มหาวิทยาลัยก่อตั้งคณะที่ต้องการมากที่สุด 2 คณะ คือ วิชาวิศวกรรมศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ แต่วิชาทั้งสองจำเป็นต้องมีวิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษเป็นรากฐานที่จะนำไปศึกษาวิชาเกษตรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ขั้นสูง ฉะนั้น จึงจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ อีกคณะหนึ่งรวมเป็นสามคณะ

ภารกิจของคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์จึงมีเพียงการสอนวิชาพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษให้กับนักศึกษาสองคณะ ได้แก่ คณะเกษตรศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์เท่านั้น ซึ่งในขณะนั้นมหาวิทยาลัยได้ขอใช้พื้นที่ของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร เป็นสำนักงาน และสถานที่ทำการสอนชั่วคราวระหว่างที่มีการก่อสร้างอาคาร ณ ที่ตั้งปัจจุบันของมหาวิทยาลัยที่จังหวัดขอนแก่น การเรียนการสอนครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2507 โดย รศ.ร.อ.นิพนธ์ เปาโรหิตย์ ซึ่งโอนย้ายมาจากวิทยาลัยครูจันทรเกษม มาเป็นผู้สอนคณิตศาสตร์ให้กับนักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัย จึงถือว่า รศ.ร.อ.นิพนธ์ เปาโรหิตย์ เป็นอาจารย์ท่านแรกของภาควิชาคณิตศาสตร์  ในช่วงเวลาเดียวกันมีการรับอาจารย์ใหม่เข้ามาสมทบอย่างต่อเนื่อง อาทิ
รศ.สมเกียรติ ตั้งพูลผล  อ.ธารี วงศ์ทอง และ ผศ.ดร.บุญส่ง ศิวโมกษธรรม ขณะเดียวกันยังได้รับเกียรติจากจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ส่งอาจารย์พิเศษร่วมสอนในรายวิชาทางคณิตศาสตร์  ท่าน ได้แก่ ผศ.สุพพัดดา
ปวนะฤทธิ์  ผศ.สมพร เซ่งศรี และ รศ.อนัญญา อภิชาตบุตร

วันที่ 31 สิงหาคม 2508 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็น มหาวิทยาลัยขอนแก่นและนำพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่นขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 83 ตอนที่ 8 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2509 มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัย ในเวลาต่อมามีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2509 จึงถือว่าคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ได้จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในวันดังกล่าว

ที่ทำการของภาควิชาคณิตศาสตร์ในยุคแรกอยู่ที่อาคาร SC 01 ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2509  โดยเป็นที่ทำการร่วมกับภาควิชาต่างๆ ภายในคณะฯ จนกระทั่งอาคาร SC 02 ก่อสร้างแล้วเสร็จ ภาควิชาฟิสิกส์จึงย้ายที่ทำการไปยังอาคารดังกล่าวในปี พ.ศ. 2514  ส่วนภาควิชาภาษาอังกฤษ ได้ย้ายไปยังอาคาร HS 01 ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2516 ทำให้หลังจากปี พ.ศ. 2516 อาคาร SC 01 เป็นทำการของสำนักงานเลขานุการ ภาควิชาเคมี ภาควิชาชีววิทยา และภาควิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งในส่วนของภาควิชาฯ มีที่ทำการอยู่ที่บริเวณชั้นล่างของส่วนที่เป็นอาคารสองชั้น 7 ประกอบด้วยห้องต่างๆ จำนวน 4 ห้อง ห้องแรกใช้เป็นห้องสารบรรณร่วมกับห้องหัวหน้าภาควิชาฯ ห้องที่สองใช้เป็นห้องพักอาจารย์ทั้งภาควิชาฯ และอีกสองห้องใช้เป็นห้องสำหรับการเรียนการสอน

บุคลากรของภาควิชาคณิตศาสตร์ยังคงปฏิบัติภารกิจด้านการสอนวิชาพื้นฐานแก่นักศึกษาคณะต่างๆ ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยยังไม่มีการรับนักศึกษาสาขาวิชาเอก จนกระทั่งวันที่ 3 พฤศจิกายน 2515 คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ให้ความเห็นชอบหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตของคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ จำนวน 6 สาขาวิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ พฤกษศาสตร์ สัตววิทยา ธรณีวิทยา ฟิสิกส์ และเคมี ทำให้ในปีต่อมาคณะฯ ได้เปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีรุ่นแรก ทั้งนี้ นักศึกษาของคณะฯ จะต้องเรียนรายวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ในชั้นปีที่หนึ่งก่อน เมื่อถึงชั้นปีที่สองนักศึกษาจึงมีสิทธิเลือกสาขาวิชาที่สนใจ แต่หลักการข้างต้นทางคณะฯ ได้ยกเลิกตั้งแต่ปีการศึกษา 2535 โดยนักเรียนผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสามารถเลือกสาขาวิชาได้เองตั้งแต่ขั้นตอนการสมัครสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา

ในช่วงนี้ภาควิชาฯ มีภาระงานสอนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันมีอาจารย์บางท่านลาศึกษาต่อ ทำให้ขณะนั้นมีจำนวนอาจารย์ประมาณ 10 ท่าน ทางภาควิชาฯ จึงได้เชิญอาจารย์พิเศษที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อสอนนักศึกษาสาขาวิชาคณิตศาสตร์ อาทิ ผศ.ดร.บริบูรณ์ ดิษฐกมล จากศูนย์วิจัยเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สอนในรายวิชาสถิติพื้นฐาน และในปี พ.ศ. 2519 ภาควิชาฯ ได้ติดต่อขอรับทุนจากมูลนิธิ Christchurch เพื่อให้ส่งผู้เชี่ยวชาญ คือ Dr. Graham Wood จาก University of Canterbury ประเทศนิวซีแลนด์ มาช่วยสอนในรายวิชาหลักการของคณิตศาสตร์ และการวิเคราะห์เชิงตัวเลข ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2519-2520

ปี พ.ศ. 2520 ภาควิชาคณิตศาสตร์ได้ย้ายที่ทำการไปยังอาคาร SC 03 โดยเป็นอาคารที่ทำการร่วมกับภาควิชาชีววิทยา ภาควิชาธรณีวิทยา  ห้องประชุมใหญ่ และห้องสมุดคณะฯ ในส่วนของภาควิชาคณิตศาสตร์มีที่ทำการอยู่ที่ชั้น 2, 3 และ 4 ของอาคารด้านทิศใต้ ซึ่งอยู่ติดกับอาคาร SC 02 โดยชั้นสองประกอบด้วยห้องสารบรรณ ห้องหัวหน้าภาควิชาฯ ห้องพักอาจารย์ ห้องสมุดภาควิชา ห้องผลิตเอกสาร และห้องเก็บพัสดุ ชั้นสามประกอบด้วยห้องพักอาจารย์ และห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ และชั้นสี่เป็นห้องเรียนทั้งหมด ทั้งนี้ มีข้อเท็จจริงปรากฏว่าทางคณะฯ เดิมมีแผนงานที่จะสร้างตึกชีววิทยา
ตึกคณิตศาสตร์ และตึกธรณีวิทยา รวม
3 ตึก เพื่อให้ทุกภาควิชาในขณะนั้นมีตึกเป็นของตัวเอง แต่ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ และความจำเป็นเร่งด่วนที่ภาควิชาเหล่านี้ต้องมีที่ทำการใหม่ จึงได้มีการปรับแบบตึกชีววิทยาที่กำลังก่อสร้าง ณ ขณะนั้น ให้สามารถรองรับส่วนงานต่างๆ ของทั้ง 3 ภาควิชาได้

ปี พ.ศ. 2521 ภาควิชาคณิตศาสตร์ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติในคราวเดียวกันกับการเปลี่ยนชื่อคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์เป็น คณะวิทยาศาสตร์”  ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2521 การเปลี่ยนแปลงชื่อของภาควิชาครั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 4 ที่ต้องการให้สถาบันอุดมศึกษามีการผลิตบุคลากรทางด้านสถิติ ในเวลาต่อมาภาควิชาฯ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถิติ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2521 โดยทบวง มหาวิทยาลัยอนุมัติหลักสูตรดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2524 และทำการเปิดรับนักศึกษาสาขาวิชาสถิติในปีเดียวกัน ต่อมาทางคณะฯ มีดำริที่จะจัดตั้งภาควิชาสถิติขึ้น เนื่องจากภาระการผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาสถิติต้องการกำลังคนและอุปกรณ์เฉพาะทาง จนในที่สุดมีประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2526 สาขาวิชาสถิติจึงถูกโอนให้ไปสังกัดภาควิชาสถิติ พร้อมกับการเปลี่ยนขื่อภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติอีกครั้ง โดยกลับมาใช้ชื่อ ภาควิชาคณิตศาสตร์ดังเดิม

หลังจากที่ภาควิชาคณิตศาสตร์เปิดรับนักศึกษามาแล้วกว่า 10 รุ่น และบริการสอนวิชาพื้นฐานทางคณิตศาสตร์แก่นักศึกษาคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาแล้วกว่า 20 ปี ด้วยความพร้อมและศักยภาพของบุคลากร ภาควิชาฯ จึงมีแผนการที่จะผลิตมหาบัณฑิตสาขาวิชาคณิตศาสตร์ นอกจากนี้คณาจารย์ในภาควิชาฯ มีความเห็นร่วมกันว่าหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ที่ใช้อยู่ขณะนั้นมีรายวิชาบังคับเลือกในภาควิชาฯ น้อยเกินไป ขณะที่รายวิชาบังคับเลือกนอกภาควิชาฯ กลับมีมากเกินไป ดังนั้นภาควิชาฯ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสองชุด ชุดหนึ่งดำเนินการปรับปรุงหลักสูตร
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต คณะกรรมการทั้งสองชุดเริ่มดำเนินการร่างหลักสูตรพร้อมกันในวันที่
1 มีนาคม 2528 ทั้งนี้ หลักสูตรทั้งสองได้รับการอนุมัติจากทบวงมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2531

ในเวลาต่อมาภาควิชาคณิตศาสตร์ได้เห็นความสำคัญและบทบาทของคอมพิวเตอร์ต่อการพัฒนางานด้านต่างๆ และเห็นสมควรให้มีการผลิตบัณฑิตสาขานี้ขึ้น ภาควิชาฯ จึงเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการร่างหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2529 และได้รับการอนุมัติจากทบวงมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2530 ทำให้สามารถรับนักศึกษาสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ได้ทันทีในปีการศึกษา 2530

เดือนตุลาคม พ.ศ. 2530 ภาควิชาคณิตศาสตร์ได้ย้ายที่ทำการอีกครั้งไปยังอาคาร SC 06 โดยเป็นอาคารที่ทำการร่วมกับสำนักงานคณบดี ภาควิชาสถิติ ภาควิชาภาคฟิสิกส์ และห้องสมุดคณะฯ ในส่วนของภาควิชาฯ มีที่ทำการอยู่ที่ชั้น 3 รวมถึงพื้นที่บางส่วนของชั้น 2 โดยชั้นสองประกอบด้วยห้องเรียน และห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 2 ห้อง ซึ่งขณะนั้นมีเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์รวม 39 เครื่อง ส่วนชั้นสามประกอบด้วยห้องต่างๆ อาทิ ห้องสารบรรณ ห้องหัวหน้าภาควิชาฯ ห้องพักอาจารย์ และห้องเรียน

ภายหลังจากที่หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตได้รับการรับรอง ภาควิชาฯ จึงได้ดำเนินการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในระดับปริญญาโทในปี พ.ศ. 2532 โดยเป็นการสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์ แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดที่สอบผ่านในปีถัดมา (พ.ศ. 2533) มีการจัดสอบอีกครั้ง และมีผู้สอบได้ 2 คน จึงนับได้ว่าเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทรุ่นแรกของภาควิชาฯ นักศึกษาทั้งสองคนมี รศ.ดร.สุชาติ จันทร์ทิพย์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

ปี พ.ศ. 2535 คณะวิทยาศาสตร์มีแผนการที่จะจัดตั้งภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เป็นไปตามแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 7 อาจารย์ในสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์จึงได้ร่วมกันก่อตั้ง โครงการจัดตั้งภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์โดยโครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหัวหน้าภาควิชาคณิตศาสตร์ และคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งสามารถนำเสนอโครงการไปยังทบวงมหาวิทยาลัย ในที่สุดจึงมีประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัย ขอนแก่น ลงวันที่ 23 มีนาคม 2537 ให้จัดตั้งภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ทำให้สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ถูกโอนไปอยู่สังกัดภาควิชาใหม่ดังกล่าว

เดือนธันวาคม พ.ศ. 2536 ภาควิชาคณิตศาสตร์ได้ย้ายที่ทำการไปยังอาคาร SC 07 ซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบัน โดยส่งมอบที่ทำการเดิมให้แก่ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่ขณะนั้นกำลังจะได้รับการอนุมัติให้จัดตั้ง ทั้งนี้ อาคาร SC 07 เป็นที่ทำการร่วมกับภาควิชาจุลชีววิทยา ภาควิชาชีวเคมี ศูนย์วิจัยอนุกรมวิธานประยุกต์ และห้องประชุมพิมล กลกิจ ในช่วงแรกภาควิชาคณิตศาสตร์มีที่ทำการอยู่ที่ชั้น 2 และ 3 ของตึกด้านทิศเหนือ ต่อมางานวิจัยของภาควิชาคณิตศาสตร์มีความก้าวหน้าและมีความหลากหลายมากขึ้น จำเป็นต้องมีการจัดตั้งห้องวิจัยทางคณิตศาสตร์เฉพาะทาง ภาควิชาฯ จึงได้ขอใช้พื้นที่ชั้น 4 ทางด้านทิศตะวันออกของห้องประชุมพิมล กลกิจ เพิ่มเติม ซึ่งเดิมเป็นห้องเรียนที่อยู่ในความดูแลของคณะฯ ปัจจุบันพื้นที่ชั้น 2 ประกอบด้วยห้องสารบรรณ ห้องผู้บริหารภาควิชา ห้องจำหน่ายหนังสือ ห้องสมุดภาควิชา ห้องเก็บพัสดุ ห้องประชุม ห้องน้ำชา และห้องพักอาจารย์ ส่วนชั้น 3 ประกอบด้วยห้องสัมมนา ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องพักนักศึกษา และห้องพักอาจารย์ ขณะที่ชั้น 4 เป็นห้องวิจัยทางคณิตศาสตร์เฉพาะทาง

เนื่องด้วยความก้าวหน้าทางวิชาการด้านคณิตศาสตร์ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับศาสตร์แขนงอื่นๆ ได้มากมาย ประกอบกับภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการใช้บัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถด้านคณิตศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะทาง ภาควิชาฯ จึงมีแนวคิดที่จะเปิดรับนักศึกษาในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ขึ้น จึงได้ดำเนินการร่างหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์  จนกระทั่งสามารถเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปี พ.ศ. 2546 หลังจากนั้นภาควิชาฯ จึงได้ดำเนินการร่างหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ขึ้นมาอีกหลักสูตรหนึ่ง และเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2548

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2516 จนถึงขณะนี้ถือว่าเป็นระยะเวลากว่า 45 ปีแล้วที่ภาควิชาคณิตศาสตร์ได้สร้างบัณฑิตและมหาบัณฑิตทางด้านคณิตศาสตร์เพื่อออกไปรับใช้สังคม มีบุคลากรสายผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกแล้ว ด้วยความพร้อมเหล่านี้ ภาควิชาฯ จึงได้ดำเนินการร่างหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต เพื่อเปิดสอนในระดับปริญญาเอก โดยสาขาวิชาคณิตศาสตร์ได้เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปี พ.ศ. 2549 และสาขาวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ได้เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปี พ.ศ. 2552

ภาควิชาคณิตศาสตร์ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรต่างๆ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในแต่ละยุคสมัย โดยในปัจจุบันหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตทั้งสองสาขา หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต และหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ เป็นหลักสูตรปี พ.ศ. 2555 ส่วนหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ เป็นหลักสูตรปี พ.ศ. 2554 และหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ เป็นหลักสูตรปี พ.ศ. 2553

ภาควิชาคณิตศาสตร์ ยังคงมุ่งมั่นทำหน้าที่ผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถด้านคณิตศาสตร์ที่กอปรด้วยวิทยา จริยา ปัญญา อีก ทั้งยังสนับสนุนให้มีการบริการวิชาการ เช่น การจัดอบรมหรือประชุมวิชาการ การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับประเทศ และการส่งบุคลากรสายผู้สอนเข้าร่วมในโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ วมว.  เป็นต้น