ประวัติสาขาวิชาคณิตศาสตร์

            สาขาวิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อตั้งขึ้นพร้อมกับคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อปี พ.ศ. 2507 โดยใช้ชื่อว่า “แผนกวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ” ซึ่งเป็นแผนกวิชาที่จัดตั้งขึ้นพร้อมกับแผนกวิชาอื่น ๆ ของคณะฯ อีก 4 แผนก ได้แก่ แผนกวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และภาษาอังกฤษ ในยุคก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ยังไม่มีการรับนักศึกษา เนื่องด้วยนโยบายของรัฐที่กำหนดให้มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นสถาบันการศึกษาขั้นสูงด้านวิศวกรรมศาสตร์และเกษตรศาสตร์ มีหน้าที่ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถเพื่อนำองค์ความรู้มาพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งส่วนมากเป็นพื้นที่แห้งแล้งให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ มหาวิทยาลัยจึงรับนักศึกษาในสาขาวิชาเกษตรศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์เป็นลำดับแรกก่อน มีหลักฐานดังคำกราบบังคมทูลของนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2510 ความว่า “ความจำเป็นและความต้องการอย่างยิ่งในการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือนำให้มหาวิทยาลัยก่อตั้งคณะที่ต้องการมากที่สุด 2 คณะ คือ วิชาวิศวกรรมศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ แต่วิชาทั้งสองจำเป็นต้องมีวิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษเป็นรากฐานที่จะนำไปศึกษาวิชาเกษตรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ขั้นสูง ฉะนั้น จึงจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ อีกคณะหนึ่งรวมเป็นสามคณะ” 
            ภารกิจของคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์จึงมีเพียงการสอนวิชาพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษให้กับนักศึกษาทั้งสองคณะ ได้แก่ คณะเกษตรศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ เท่านั้น ซึ่งในขณะนั้น มหาวิทยาลัยได้ขอใช้พื้นที่ของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร เป็นสำนักงาน และสถานที่ทำการสอนชั่วคราวระหว่างที่มีการก่อสร้างอาคาร ณ ที่ตั้งปัจจุบันของมหาวิทยาลัยที่จังหวัดขอนแก่น การเรียนการสอนครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2507 โดย รศ. ร.อ.นิพนธ์ เปาโรหิตย์ ซึ่งโอนย้ายมาจากวิทยาลัยครูจันทรเกษม มาเป็นผู้สอนคณิตศาสตร์ให้กับนักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัย จึงถือว่า รศ. ร.อ.นิพนธ์ เปาโรหิตย์ เป็นอาจารย์ท่านแรกของสาขาวิชาคณิตศาสตร์  ในช่วงเวลาเดียวกันมีการรับอาจารย์ใหม่เข้ามาสมทบอย่างต่อเนื่อง อาทิ รศ. สมเกียรติ ตั้งพูลผล  อ. ธารี วงศ์ทอง และ ผศ. ดร.บุญส่ง ศิวโมกษธรรม ขณะเดียวกันยังได้รับเกียรติจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ส่งอาจารย์พิเศษมาร่วมสอนในรายวิชาทางคณิตศาสตร์ จำนวน 3 ท่าน ได้แก่ ผศ. สุพพัดดา ปวนะฤทธิ์  ผศ. สมพร เซ่งศรี และ รศ. อนัญญา อภิชาตบุตร

            วันที่ 31 สิงหาคม 2508 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็น “มหาวิทยาลัยขอนแก่น” และนำพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่นขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย

            คณะรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่นขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 83 ตอนที่ 8 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2509 มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัย ในเวลาต่อมา มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2509 จึงถือว่า ภาควิชาคณิตศาสตร์ สังกัดคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ ได้จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในวันดังกล่าว 
            ในยุคแรก ที่ทำการของภาควิชาคณิตศาสตร์อยู่ที่อาคาร SC 01 ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2509  โดยเป็นที่ทำการร่วมกับภาควิชาต่าง ๆ ภายในคณะฯ จนกระทั่งอาคาร SC 02 ก่อสร้างแล้วเสร็จ ภาควิชาฟิสิกส์จึงย้ายที่ทำการไปยังอาคารดังกล่าวในปี พ.ศ. 2514  ส่วนภาควิชาภาษาอังกฤษ ได้ย้ายไปยังอาคาร HS 01 ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2516 ทำให้หลังจากปี พ.ศ. 2516 อาคาร SC 01 เป็นที่ทำการของสำนักงานเลขานุการ ภาควิชาเคมี ภาควิชาชีววิทยา และภาควิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งในส่วนของภาควิชาฯ มีที่ทำการอยู่ที่บริเวณชั้นล่างของส่วนที่เป็นอาคารสองชั้น 7 ประกอบด้วยห้องต่าง ๆ จำนวน 4 ห้อง ห้องแรกใช้เป็นห้องสารบรรณร่วมกับห้องหัวหน้าภาควิชาฯ ห้องที่สองใช้เป็นห้องพักอาจารย์ทั้งภาควิชาฯ และอีกสองห้องใช้เป็นห้องสำหรับการเรียนการสอน

            บุคลากรของภาควิชาคณิตศาสตร์ยังคงปฏิบัติภารกิจด้านการสอนวิชาพื้นฐานให้แก่นักศึกษาคณะต่าง ๆ ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยยังไม่มีการรับนักศึกษาในสาขาวิชาเอก จนกระทั่งวันที่ 3 พฤศจิกายน 2515 คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ให้ความเห็นชอบอนุมัติหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตของคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ จำนวน 6 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ พฤกษศาสตร์ สัตววิทยา ธรณีวิทยา ฟิสิกส์ และเคมี


            หลังจากที่หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตทั้ง 6 สาขาวิชา ได้รับการอนุมัติ ทางคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์จึงได้เปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีรุ่นแรกในปี พ.ศ. 2516 ทั้งนี้ นักศึกษาของคณะฯ จะต้องเรียนรายวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ในชั้นปีที่หนึ่งก่อน เมื่อถึงชั้นปีที่สองนักศึกษาจึงมีสิทธิ์เลือกสาขาวิชาที่สนใจ แต่หลักการข้างต้นทางคณะฯ ได้ยกเลิกไปตั้งแต่ปีการศึกษา 2535 โดยนักเรียนผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสามารถเลือกสาขาวิชาได้เองตั้งแต่ขั้นตอนการสมัครสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ในช่วงนี้ภาควิชาฯ มีภาระงานสอนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันมีอาจารย์บางท่านลาศึกษาต่อ ทำให้ขณะนั้นมีจำนวนอาจารย์ประมาณ 10 ท่าน ทางภาควิชาฯ จึงได้เชิญอาจารย์พิเศษที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อสอนนักศึกษาภาควิชาคณิตศาสตร์ อาทิ ผศ. ดร.บริบูรณ์ ดิษฐกมล จากศูนย์วิจัยเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมาช่วยสอนในรายวิชาสถิติพื้นฐาน

            ในปี พ.ศ. 2519 ภาควิชาคณิตศาสตร์ ได้ติดต่อขอรับทุนจากมูลนิธิ Christchurch เพื่อให้ส่งผู้เชี่ยวชาญ คือ Dr.Graham Wood จาก University of Canterbury ประเทศนิวซีแลนด์ มาช่วยสอนในรายวิชาหลักการทางคณิตศาสตร์ และการวิเคราะห์เชิงตัวเลข ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2519 – 2520

            ปี พ.ศ. 2520 ภาควิชาคณิตศาสตร์ได้ย้ายที่ทำการจากอาคาร SC 01 ไปยังอาคาร SC 03 โดยเป็นอาคารที่ทำการร่วมกับภาควิชาชีววิทยา ภาควิชาธรณีวิทยา  ห้องประชุมใหญ่ และห้องสมุดคณะฯ ในส่วนของภาควิชาคณิตศาสตร์มีที่ทำการอยู่ที่ชั้น 2, 3 และ 4 ของอาคารด้านทิศใต้ ซึ่งอยู่ติดกับอาคาร SC 02 โดยชั้นสองประกอบด้วยห้องสารบรรณ ห้องหัวหน้าภาควิชาฯ ห้องพักอาจารย์ ห้องสมุดภาควิชาฯ ห้องผลิตเอกสาร และห้องเก็บพัสดุ ชั้นสามประกอบด้วยห้องพักอาจารย์ และห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ และชั้นสี่เป็นห้องเรียนทั้งหมด ทั้งนี้ มีข้อเท็จจริงปรากฏว่าทางคณะฯ เดิมมีแผนงานที่จะสร้างตึกชีววิทยา ตึกคณิตศาสตร์ และตึกธรณีวิทยา รวม 3 ตึก เพื่อให้ทุกภาควิชาในขณะนั้นมีตึกเป็นของตัวเอง แต่ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ และความจำเป็นเร่งด่วนที่ภาควิชาเหล่านี้ต้องมีที่ทำการใหม่ จึงได้มีการปรับแบบตึกชีววิทยาที่กำลังก่อสร้าง ณ ขณะนั้น ให้สามารถรองรับส่วนงานต่าง ๆ ของทั้ง 3 ภาควิชาได้

            พ.ศ. 2521 ภาควิชาคณิตศาสตร์ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติ” ในคราวเดียวกันกับการเปลี่ยนชื่อคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์เป็น “คณะวิทยาศาสตร์”  ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2521 การเปลี่ยนแปลงชื่อของภาควิชาครั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 4 ที่ต้องการให้สถาบันอุดมศึกษามีการผลิตบุคลากรทางด้านสถิติ

            ในเวลาต่อมา เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2521 ภาควิชาฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถิติ โดยทบวง มหาวิทยาลัยอนุมัติหลักสูตรดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2524 และทำการเปิดรับนักศึกษาสาขาวิชาสถิติในปีเดียวกัน ต่อมาทางคณะฯ มีดำริที่จะจัดตั้งภาควิชาสถิติขึ้น เนื่องจากภาระการผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาสถิติต้องการกำลังคนและอุปกรณ์เฉพาะทาง จนในที่สุดมีประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2526 สาขาวิชาสถิติจึงถูกโอนให้ไปสังกัดภาควิชาสถิติ พร้อมกับการเปลี่ยนขื่อภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติอีกครั้ง โดยกลับมาใช้ชื่อ “ภาควิชาคณิตศาสตร์” ดังเดิม

            หลังจากที่ภาควิชาคณิตศาสตร์เปิดรับนักศึกษามาแล้วกว่า 10 รุ่น และบริการสอนวิชาพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ให้แก่นักศึกษาคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาแล้วกว่า 20 ปี ด้วยความพร้อมและศักยภาพของบุคลากร ภาควิชาฯ จึงมีแผนการที่จะผลิตมหาบัณฑิตสาขาวิชาคณิตศาสตร์ นอกจากนี้ คณาจารย์ในภาควิชาฯ มีความเห็นร่วมกันว่าหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ที่ใช้อยู่ขณะนั้นมีรายวิชาบังคับเลือกในภาควิชาฯ น้อยเกินไป ขณะที่รายวิชาบังคับเลือกนอกภาควิชาฯ กลับมีมากเกินไป ดังนั้น ภาควิชาฯ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสองชุด ชุดหนึ่งดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต อีกชุดหนึ่งดำเนินการร่างหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ คณะกรรมการทั้งสองชุดเริ่มดำเนินการพร้อมกันในวันที่ 1 มีนาคม 2528 ทั้งนี้ หลักสูตรทั้งสองได้รับการอนุมัติจากทบวงมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2531

           ในเวลาต่อมา ภาควิชาคณิตศาสตร์ได้เห็นความสำคัญและบทบาทของคอมพิวเตอร์ต่อการพัฒนางานด้านต่าง ๆ และเห็นสมควรให้มีการผลิตบัณฑิตสาขาดังกล่าวขึ้น ภาควิชาฯ จึงเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการร่างหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2529 และได้รับการอนุมัติจากทบวงมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2530 ทำให้สามารถรับนักศึกษาสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ได้ทันทีในปีการศึกษา 2530 หลังจากนั้น ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2530 ภาควิชาคณิตศาสตร์ได้ย้ายที่ทำการอีกครั้งไปยังอาคาร SC 06 โดยเป็นอาคารที่ทำการร่วมกับสำนักงานคณบดี ภาควิชาสถิติ ภาควิชาฟิสิกส์ และห้องสมุดคณะฯ ในส่วนของภาควิชาฯ มีที่ทำการอยู่ที่ชั้นสาม รวมถึงพื้นที่บางส่วนของชั้นสอง โดยชั้นสองประกอบด้วยห้องเรียน และห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 2 ห้อง ซึ่งขณะนั้นมีเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์รวม 39 เครื่อง ส่วนชั้นสามประกอบด้วยห้องต่าง ๆ อาทิ ห้องสารบรรณ ห้องหัวหน้าภาควิชาฯ ห้องพักอาจารย์ และห้องเรียน

             ภายหลังจากที่หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตได้รับการรับรองในปี พ.ศ. 2531 ภาควิชาฯ จึงได้ดำเนินการสอบคัดเลือกนักศึกษาเพื่อเข้าศึกษาในระดับปริญญาโทในปี พ.ศ. 2532 โดยเป็นการสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์ แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดสอบผ่าน ในปีถัดมา (พ.ศ. 2533) มีการจัดสอบอีกครั้ง และมีผู้สอบได้ 2 คน จึงนับได้ว่าเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทรุ่นแรกของภาควิชาฯ โดยนักศึกษาทั้งสองคนมีอาจารย์ที่ปรึกษา คือ รศ. ดร.สุชาติ จันทร์ทิพย์ 

           ในปี พ.ศ. 2535 คณะวิทยาศาสตร์มีแผนการที่จะจัดตั้งภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เป็นไปตามแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 7 อาจารย์ในสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์จึงได้ร่วมกันก่อตั้ง “โครงการจัดตั้งภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์” โดยโครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหัวหน้าภาควิชาคณิตศาสตร์ และคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งสามารถนำเสนอโครงการไปยังทบวงมหาวิทยาลัย (โครงการได้รับการอนุมัติในที่สุด โดยมีประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงวันที่ 23 มีนาคม 2537 ให้จัดตั้งภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ทำให้สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ถูกโอนไปอยู่สังกัดภาควิชาใหม่ดังกล่าว)
           เดือนธันวาคม พ.ศ. 2536 ภาควิชาคณิตศาสตร์ได้ย้ายที่ทำการไปยังอาคาร SC 07 ซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบัน โดยส่งมอบที่ทำการเดิมให้แก่ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่ขณะนั้นกำลังจะได้รับการอนุมัติให้จัดตั้ง ทั้งนี้ อาคาร SC 07 เป็นที่ทำการร่วมกับภาควิชาจุลชีววิทยา ภาควิชาชีวเคมี ศูนย์วิจัยอนุกรมวิธานประยุกต์ และห้องประชุมพิมล กลกิจ ในช่วงแรก ภาควิชาคณิตศาสตร์มีที่ทำการอยู่ที่ชั้นสองและสามของตึกด้านทิศเหนือ ต่อมางานวิจัยของภาควิชาคณิตศาสตร์มีความก้าวหน้าและมีความหลากหลายมากขึ้น จำเป็นต้องมีการจัดตั้งห้องวิจัยทางคณิตศาสตร์เฉพาะทาง ภาควิชาฯ จึงได้ขอใช้พื้นที่ชั้นสี่ ทางด้านทิศตะวันออกของห้องประชุมพิมล กลกิจ เพิ่มเติม ซึ่งเดิมเป็นห้องเรียนที่อยู่ในความดูแลของคณะฯ ปัจจุบันพื้นที่ชั้นสอง ประกอบด้วย ห้องสารบรรณ ห้องผู้บริหารภาควิชาฯ ห้องจำหน่ายหนังสือ ห้องสมุดภาควิชาฯ ห้องเก็บพัสดุ ห้องประชุม ห้องน้ำชา และห้องพักอาจารย์ ส่วนชั้นสาม ประกอบด้วย ห้องสัมมนา ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องพักนักศึกษา และห้องพักอาจารย์ ขณะที่ชั้นสี่ เป็นห้องวิจัยทางคณิตศาสตร์เฉพาะทาง

            เนื่องด้วยความก้าวหน้าทางวิชาการด้านคณิตศาสตร์ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับศาสตร์แขนงอื่น ๆ ได้มากมาย ประกอบกับภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการใช้บัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถด้านคณิตศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะทาง ภาควิชาฯ จึงมีแนวคิดที่จะเปิดรับนักศึกษาในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ขึ้น จึงได้ดำเนินการร่างหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์  จนกระทั่งสามารถเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปี พ.ศ. 2546 

            หลังจากนั้น ภาควิชาฯ ได้ดำเนินการร่างหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ ขึ้นมาอีกหลักสูตรหนึ่ง และเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2548

            นับตั้งแต่ พ.ศ. 2516 ผ่านมาเป็นระยะเวลามากกว่า 30 ปี ที่ภาควิชาคณิตศาสตร์ได้สร้างบัณฑิตและมหาบัณฑิตทางด้านคณิตศาสตร์เพื่อออกไปรับใช้สังคม และในขณะนั้น ภาควิชาฯ มีบุคลากรสายผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกแล้ว ด้วยความพร้อมเหล่านี้ ภาควิชาฯ จึงได้ดำเนินการร่างหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต เพื่อเปิดสอนในระดับปริญญาเอก โดยได้เปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาคณิตศาสตร์รุ่นแรกในปี พ.ศ. 2549 

            หลังจากที่ภาควิชาฯ ได้เปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งกระบวนการจัดการเรียนการสอนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ อีกทั้งได้ผลิตมหาบัณฑิตสาขาวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง ภาควิชาฯ จึงเล็งเห็นความสำคัญที่จะเปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมกันร่างหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ขึ้น และสามารถเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกได้ในปี พ.ศ. 2552

            ภาควิชาคณิตศาสตร์ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในแต่ละยุคสมัย โดยในปัจจุบัน หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตทั้งสองสาขา หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต และหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ เป็นหลักสูตรปี พ.ศ. 2555 ส่วนหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ เป็นหลักสูตรปี พ.ศ. 2554 และหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ เป็นหลักสูตรปี พ.ศ. 2553 ด้วยคุณภาพและความทันสมัยของแต่ละหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนในภาควิชาคณิตศาสตร์ ส่งผลให้ภาควิชาฯ เป็นองค์กรที่มีคุณภาพในหลาย ๆ ด้าน และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เพื่อให้การบริหารและติดต่อประสานงานระหว่างภาควิชาฯ กับทางคณะวิทยาศาสตร์ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันได้อย่างคุ้มค่าและมีคุณภาพ ทางคณะวิทยาศาสตร์จึงดำเนินการปรับโครงสร้างของคณะฯ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าด้วยการจัดตั้ง การรวมและยุบเลิกส่วนงาน และ การแบ่งหน่วยงานและหน่วยงานย่อยของส่วนงานในมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2559 ซึ่งถูกยกเลิกโดยข้อบังคับของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าด้วยการจัดตั้ง การรวมและยุบเลิกส่วนงาน และ การแบ่งหน่วยงานและหน่วยงานย่อยของส่วนงานในมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2560 ข้อ 20 ซึ่งกำหนดให้ส่วนงานประเภท “คณะ” แบ่งหน่วยงานภายในคณะ ออกเป็น “กองบริหารงานคณะ” และ “หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามภารกิจหรือยุทธศาสตร์” ส่วนการบริหารวิชาการ ให้บริหารในแบบ “สาขาวิชา” ตามประกาศมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฉบับที่ 740/2561 เรื่อง การแบ่งหน่วยงานและหน่วยงานย่อยภายในคณะวิทยาศาสตร์ ลงวันที่ 2 เมษายน 2561 ด้วยเหตุนี้ ภาควิชาคณิตศาสตร์จึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “สาขาวิชาคณิตศาสตร์” 
            อย่างไรก็ตาม สาขาวิชาคณิตศาสตร์ ยังคงมุ่งมั่นทำหน้าที่ผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถด้านคณิตศาสตร์ที่กอปรด้วยวิทยา จริยา ปัญญา อีกทั้งยังสนับสนุนให้มีการบริการวิชาการ เช่น การจัดอบรมหรือประชุมวิชาการ การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับประเทศ และการส่งบุคลากรสายผู้สอนเข้าร่วมในโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ วมว.  เป็นต้น